รถซิ่ง รถแต่งโหลดเตี้ย โมเครื่องแรงเสียงดัง ไฟหลากสี พอขับเข้าด่านตำรวจก็เสี่ยงว่าจะโดนจับปรับหรือเปล่า ลดกระจกส่งยิ้มให้จ่าแล้วก็ยังไม่รอด โดนหลายกระทงข้อหาดัดแปลงสภาพ มาดูการแต่งรถยังไงไม่ให้ผิด พ.ร.บ. จราจรกันค่ะ
1. เปลี่ยนป้ายทะเบียนให้ยาวขึ้น
ป้ายทะเบียนที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบกนั้น มีหลายท่านนำมาดัดแปลงตัดต่ออัดกรอบใหม่เป็นป้ายยาว การกระทำกับป้ายทะเบียนเดิม ๆ ให้เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ คุณจะโดนข้อหาดัดแปลงสภาพป้ายทะเบียน ผิดเต็ม ๆ เลยค่ะ การปรับเปลี่ยนแปลงร่างป้ายทะเบียนซึ่งถือเป็นเอกสารของทางราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสามารถเรียกปรับไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงการติดป้ายเอียง แบบแหงนขึ้น – แหงนลง มีวัสดุมาปิดทับ เจ้าหน้าที่อาจฟันธงว่า มองเห็นไม่ชัดเจนก็มีโทษปรับเช่นเดียวกันการไม่ติดป้าย หรือวางไว้ที่กระจกหน้ารถ ผิดอีกเช่นกันปรับ 500 บาท
ส่วนการติดป้ายที่ทำขึ้นเอง เช่นทำด้วยกระดาษ หรือใช้การเขียน แต่หมายเลขตรงกับทะเบียนรถ ผิดข้อหา ไม่ใช้เอกสารที่ทางราชการกำหนดแต่ถ้าเป็นป้ายปลอมที่ทำขึ้นเองโดยไม่มีตราประทับของกรมการขนส่งทางบก เมื่อตำรวจจราจรขอตรวจดูสำเนาแล้วไม่ตรงกับป้าย จะต้องคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ เจ้าหน้าที่อาจจะเรียกปรับ หรือส่งฟ้องเพื่อทำการเรียกปรับที่ชั้นศาล โดยระบุโทษไว้ที่ 100,000 บาท หากหมายเลขป้ายทะเบียนไม่ตรงกับป้ายวงกลม รวมถึงยังไม่ตรงกับสำเนารถ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ยึดรถ เพื่อส่งเข้ากองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อหาที่มาของตัวรถและผู้ขับขี่ต้องไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ รวบรวมสำนวน ส่งให้ศาลตัดสินค่าปรับซึ่งมีบางท่านโดนปรับกันหลักแสนหลักล้านบาทมาแล้ว
2. โหลดเตี้ยแบบรถแข่งในสนาม
เป็นความพยายามและความเข้าใจของคนแต่งรถว่ารถที่เตี้ยต่ำจะยึดเกาะกับถนนได้ดีขึ้นซึ่งก็จริงแต่ไม่ทั้งหมด การยึดเกาะที่ดีของรถยนต์ยังเกิดขึ้นจากช่วงล่างที่สมบูรณ์ ยางที่สดใหม่และอยู่ในสภาพดี สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับการโหลดรถ ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รถที่โหลดเตี้ยจะต่ำแค่ไหนก็ได้ โดยยึดหลักเพียงการวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้า กับระดับพื้นถนนต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร ถ้าต่ำกว่าถือว่าผิด แต่ถ้าไฟหน้าสูงกว่าแต่รถใส่สปอยเลอร์จนเตี้ยต่ำแทบจะลากพื้น จะใช้กฎการพินิจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนายช่างตรวจสภาพกรมการขนส่งทางบก และผู้วินิจฉัยผล ตรอ. ว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และผู้อื่นหรือไม่ ถ้าฟันธงว่าเสี่ยงก็ถือว่าผิดได้เช่นกันนะจ๊ะ
3. ยกสูงแบบ Big Foot เอาไว้ลุยเท่ ๆ
รถยนต์แบบออฟโรดที่มีสัดส่วนความสูงมากกว่ารถเก๋งเนื่องจากสภาพการใช้งานที่ต้องบุกป่าฝ่าทางวิบาก หากใต้ท้องรถไม่สูงมากพอก็อาจติดกับร่องทางหรือหล่มโคลนจนไปต่อไม่ได้ ในพระราชบัญญัติรถยนต์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะยกสูงแค่ไหน แต่ต้องวัดระดับกึ่งกลางไฟหน้ากับพื้นถนนต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร แต่ถ้าไฟหน้าสูงไม่เกิน แต่รถโด่งโจ้งมาก มีการดัดแปลงสภาพมากทั้งเสริมโช้คยกตัวถัง การปรับแต่งรถแบบยกสูงมากนั้นต้องมีหนังสือจากวิศวกรรองรับการดัดแปลงสภาพ และต้องแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกว่ามีการดัดแปลงเพื่อใช้งานในเขตทุรกันดาน แต่ถ้ายกไม่สูงมาก แต่ใส่ยางใหญ่เกินจนล้นออกมาข้างตัวรถมาก ๆ เกินบังโคลนล้อ ก็ต้องใช้หลักดุลพินิจอีกเช่นกันว่าเสี่ยงต่อผู้ร่วมใช้ถนนหรือไม่ ถ้าคุณจ่าคิดว่าสิ่งที่ยื่นออกมานั้นอาจเป็นอันตรายต่อการใช้รถของผู้อื่นคุณก็จะเสี่ยงกับความผิดทันที
4. ใส่ล้อ 20 หรือ 22 แบบเต็มซุ้มเพื่อความหล่อและอำนาจของการยึดเกาะ
ในกฎหมายไม่มีการระบุขนาดของล้อและขนาดก็ไม่ได้มีผลการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น จะใส่ล้อใหญ่ขอบ 18-19-20 หรือจะ 22 ก็สามารถทำได้แบบสะดวกโยธิน แต่ถ้าใส่แล้วยางล้นเกินออกมานอกบังโคลนล้อข้างละหลายนิ้ว เจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านได้ตรวจพบว่าอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น (เช่นทำให้ผู้อื่นกะระยะรถผิดในขณะสวนหรือเลี้ยว) ก็ถือว่าผิดได้ หรือใส่ล้อใหญ่จนต้องแบะล้อเพื่อหลบซุ้ม การทำแบบนั้นนอกจากรถจะไม่เกาะถนนแล้วยังเป็นการทำร้ายช่วงล่างอย่างรุนแรงอีกด้วย มุมอินเอาท์ต่าง ๆ ที่ผิดเพี้ยนไปจากการคำนวณของวิศวกรจะทำให้คุณควบคุมรถล้อแบะได้ยากขึ้น แถมยังกินยางและดูแลรักษายากอีกด้วย
5. โป่งซุ้มล้อไซส์ยักษ์
การทำโป่งซุ้มล้อหรือที่เรียกกันว่า Wide Body ในปัจจุบันลดน้อยลงไปมากเนื่องจากรถยนต์สมัยใหม่มีโป่งล้อมาให้แบบจุใจ ในกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในเรื่องของโป่งล้อ แต่ก็มีระบุไว้ว่า ส่วนที่ตียื่นต้องมีลักษณะเป็นชิ้นเดียวกับตัวรถ หรือถ้าเป็นวัสดุคนละชนิดกัน ต้องมีการยึดติดอย่างแน่นหนา ถ้าไม่แน่นหนาหรือตีโป่งยื่นออกมามาก เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ขอตรวจดูสำเนาการจดทะเบียน ว่ามีการดัดแปลงเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ โดยอ้างอิงจากบริษัทผู้ผลิตถึงขนาดตัวรถ และฐานล้อ ซึ่งต้องใช้วิศวกรรับรองการดัดแปลงสภาพ และต้องแจ้งกับกรมการขนส่งทางบก ถ้าขนส่งตรวจแล้วลงความเห็นว่าผ่านก็โชคดีไป แต่ถ้าลงความเห็นว่าไม่ผ่านต้องเลาะออกกลับสภาพเดิม
6. ฝากระโปรงหน้า–หลังดำ ฝากระโปรง หลังคาคาร์บอนไฟเบอร์
นักเลงรถแรงส่วนมากมักนิยมเปลี่ยนฝากระโปรงแบบเดิมให้กลายเป็นฝาแบบคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อลดน้ำหนักและเพิ่มความขลังในมุมมอง หากทำการพ่นเป็นสีเดียวกับสีรถ ที่จดทะเบียนไว้ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเปลี่ยนสีฝากระโปรงเป็นสีดำ หรือสีอื่น ที่ไม่ตรงกับสีตัวรถ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามกฎที่ว่า รถยนต์ที่จดทะเบียนจะมีการระบุสีตัวรถไว้อย่างชัดเจนไม่รวมสีของกันชนรถ โดยสีอื่นต้องมีไม่เกินครึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนไว้ เช่น ในกรณีรถระบุไว้ในทะเบียนว่าเป็นสีขาวแต่ฝากระโปรงหน้าเป็นสีดำ เจ้าหน้าที่พินิจแล้วไม่เกินครึ่งหนึ่งก็ถือว่าไม่ผิด แต่พินิจว่าผิดก็ถือว่าผิดได้เช่นกัน (การพินิจหมายถึง การใช้หลักพิจารณาในแต่ละบุคคล) แต่ถ้าดำทั้งฝากระโปรงหน้าและหลัง ส่วนมากจะพินิจว่าผิด เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของสีหลัก ซึ่งเจ้าของรถต้องนำรถเข้าไปแจ้งเปลี่ยนสี ว่าเป็นรถสองสี (ทูโทน) กับกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน ถ้าไม่แจ้งก็อาจต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
7. เปลี่ยนท่อไอเสีย ตีเฮดเดอร์ใหม่ทั้งเส้น
จะเปลี่ยนท่อใหญ่ 3 นิ้ว 4 นิ้ว จะมีหม้อพักกี่ใบ หรือจะไม่มีหม้อพักเลยก็ได้แต่หม้อพักต้องปล่อยออกทางท้ายรถเท่านั้น (ยกเว้นเสียแต่พวกรถพ่วง รถโดยสารขนาดใหญ่) ถ้าออกข้างตัวถังรถก็ถือว่าผิดทันที ตามกฎหมายจะระบุไว้แค่การวัดเสียงดังที่ปล่อยออกจากปลายท่อตามพระราชบัญญัติรถยนต์ระบุว่า รถยนต์ที่เกิน 7 ปี ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพ ณ สถานตรวจสภาพ เพื่อตรวจวัดระดับเสียงที่ปลายท่อไอเสียด้วยเครื่อง Sound level Meter ผลที่ได้ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล (การตรวจวัดแบบ O.5 เมตร) สำหรับเครื่องยนต์เบนซิลวัดที่ ¾ รอบที่ให้แรงม้าสูงสุด และรอบสูงสุดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ถ้าท่านใดถูกจับในข้อหาเสียงท่อดังสนั่นหวั่นโลกจนชาวบ้านร้านตลาดตกกะใจ ระวังต้องโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
8. ไฟหน้าหลายสี
ไฟซีนอนกำลังส่องสว่างแรงสูง ไฟท้ายขาวใสแนวซิ่ง โคมขาว โคมดำ พ่นสีดำที่โคมไฟหน้าและไฟท้าย ปัจจุบันไฟหน้าแบบซีนอน ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ จึงอนุญาตให้ติดได้ เพียงแต่ติดตั้งแล้วเมื่อเข้าเครื่องมือทดสอบโคมไฟ ลำแสงต้องมีองศาตกลงจากแนวระนาบ ไม่น้อยกว่า 2 องศา และต้องไม่เบนไปทางขวา ถึงเรียกว่าผ่าน ส่วนเรื่องสีของไฟ โคมไฟหน้าทางกรมกำหนดไว้เพียง 2 สี เท่านั้นคือ สีเหลืองอ่อน และสีขาว ถ้าเป็นสีอื่น เช่น สีฟ้า สีม่วง สีเหลืองเข้มหรือสีเขียว มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนไฟหยุด (ไฟเบรก) ต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน ไฟส่องป้ายต้องเป็นสีขาวมองเห็นป้ายทะเบียนได้ไกลไม่น้อยกว่า 20 เมตร การเปลี่ยนโคมไฟเป็นสีขาวใสหรือพ่นโคมเป็นสีดำ ต้องพิจารณาขณะเปิดไฟเลี้ยว ไฟเบรก ถ้าหลอดไฟที่แสดงออกมาชัดเจนและเป็นสีที่ทางการกำหนดก็ถือว่าผ่าน ถ้าผิดสีเพี้ยนไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายระวังโดนปรับไม่เกิน 2,000 บาท
9. ไฟสปอร์ตไลต์และโคมไฟตัดหมอก ติดตั้งอย่างไรถึงจะว่าไม่ผิด
โคมไฟสปอร์ตไลต์หมายถึงโคมไฟแสงพุ่งไกล แบบกระจายวงกว้าง แบบนี้ห้ามติดโดยเด็ดขาดแม้จะมีฝาครอบปิด ผิดพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนไฟตัดหมอกมีลักษณะเป็นไฟแสงพุ่งต่ำ ล่าสุดปี พ.ร.บ. 2536 อนุญาตให้รถยนต์ติดไฟสปอร์ตไลต์หรือไฟตัดหมอกเพิ่มได้ ข้างละ 1 ดวง (เท่ากับ 2 ดวง) ในระดับแนวเดียวกัน ความสูงจากพื้นถนนไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร และไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร ต้องเป็นแสงสีเหลืองหรือสีขาว กำลังไฟไม่เกิน 55 วัตต์ ไม่เกินกว่าระดับโคมไฟแสงพุ่งไกลและโคมไฟแสงพุ่งต่ำศูนย์รวมแสงต้องต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตร และไม่เฉไปทางขวา
การเปิดไฟตัดหมอกนั้นทำได้เมื่อมีอุปสรรค์ในการขับขี่ เช่น มีหมอกควัน หรือฝนตกหนัก มองเห็นสิ่งกีดขวางหรือรถที่สวนทางมาในระยะไม่เกิน 150 เมตร ถ้าติดไม่ถูกต้อง หรือเปิดไฟพร่ำเพรื่อมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท รวมถึงการติดไฟนีออนใต้ท้อง หรือกรอบป้ายทะเบียน ก็เป็นสิ่งต้องห้าม ผิดอีกเช่นเดียวกันโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
10.ตีโรลบาร์แบบรถแข่ง ผิดด้วยหรือเปล่า
กฎหมายว่าด้วยห้องโดยสารมีเพียงข้อกำหนด เรื่องของจำนวนที่นั่ง มาตราวัดความเร็ว และไฟห้องโดยสารเท่านั้น ส่วนการตีโรลบาร์ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับจึงไม่ผิด แต่การถอดเบาะหลังออกแล้วตีโรลบาร์ จะผิดกฎหมายเรื่องการระบุลักษณะรถ และจำนวนตอน ถือว่าผิดครับ รวมถึงความแน่นหนา (เช่น เอามือจับแล้วโยกได้) ความเสี่ยงต่ำการเกิดอุบัติเหตุ (เช่น มีส่วนแหลมคมพุ่งเข้าหาผู้ขับขี่และผู้โดยสาร) ก็ถือว่าผิดได้อีกเช่นกัน ยิ่งถอดเบาะออกเหลือตัวเดียวหรือตัดตัวถังรถออกบางส่วน แล้วตีโรล์บาร์ยึดแบบ Spec Frame แบบนี้ถือว่าผิด ข้อหาดัดแปลงสภาพที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวรถ
11. ใส่กระจกมองข้างแบบเล็ก ๆ หรือกระจกซิ่ง
ตามกฎหมายอีกเช่นกันระบุไว้ว่า รถยนต์ต้องมีเครื่องส่องหลัง (กระจกมองหลัง) และเครื่องส่องหลังภายนอก (กระจกมองข้าง) อย่างน้อย 1 อัน ซึ่งไม่ได้ระบุถึงขนาดและรูปแบบ ถ้าเปลี่ยนเป็นกระจกมองข้างแบบไฟเบอร์ หรือแบบกระจกซิ่งทรงแข่ง ถ้ามี 2 ด้าน หรือด้านเดียวก็ถือว่าถูกกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีกระจกมองข้าง หรือกระจกมองหลัง หรือเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพ ฟันธงว่า มีเครื่องส่องหลังจริง แต่ชำรุดหรือมองเห็นไม่ชัดเจน (กระจกแตก เล็กมาก) ก็จะถือว่าผิด ต้องกลับมาแก้ไข
12. เปลี่ยนเบาะซิ่งใส่เซฟตี้เบลต์ 4 จุดยึดแบบรถแข่ง
เบาะหรือที่นั่งผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ทาง พ.ร.บ. จริง ๆ แล้วได้ระบุขนาดความกว้างยาวของเบาะเอาไว้ด้วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องในการระบุจำนวนผู้โดยสาร เบาะแต่ง หรือเบาะไฟเบอร์ ส่วนมากมีความถูกต้องในเรื่องขนาด แต่ถ้าถอดเบาะออกไม่ว่าเบาะหลัง ถอดเหลือตัวเดียว หรือสั่งทำเบาะขนาดใหญ่พิเศษแบบนี้จะถือว่าผิด ส่วนเซฟตี้เบลต์ทางกรมก็ได้กำหนดมาตรฐานเอาไว้อีกเช่นกัน เบลต์ 4 จุดแม้ว่าจะไม่ถูกต้องในเรื่องของมาตรฐาน แต่ถ้ามีการยึดแน่นหนา ก็อนุโลมว่าผ่าน แต่ถ้าใส่เบลต์ 4 จุด 8 จุด แล้วไม่คาด แบบนี้ถือว่าไม่ผิดพระราชบัญญัติ แต่ผิดกฎหมายจราจรถูกจับ เสียทรัพย์อีกด้วยค่ะ
13. ดัดแปลงเครื่องยนต์ขยายซีซี เปลี่ยนเทอร์โบ โมกล่อง
การจะมาวัดกำลังอัด หาขนาดความจุนั้นทำได้ยาก จึงอาศัยการตรวจดูหมายเลขเครื่องยนต์ว่าถูกต้องตามทะเบียนที่แจ้งไว้หรือไม่เท่านั้น ถ้าเลขเครื่องถูกถือว่าไม่ผิด จะขยายความจุ เปลี่ยนลูก ยืดข้อ เสริมเสื้อสูบก็ไม่ผิด หรือไม่ว่าจะเปลี่ยนเทอร์โบใหญ่ ใส่กรองเปลือย ตีเฮดเดอร์ เปลี่ยนหัวฉีด โมกล่องจนได้ 500 ม้า 1,000 ม้าก็ไม่ผิด เพียงแต่อุปกรณ์ภายในห้องเครื่องต้องดูแล้วแน่นหนาและมีความปลอดภัย แต่ถ้าจูนน้ำมันจนหนามาก เจ้าหน้าที่จะใช้ผลการตรวจวัดควันดำ ค่า CO (คาร์บอนมอนอกไซด์) และค่า HC (ไฮโดรคาร์บอน) ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียเป็นข้อกำหนดถึงสภาพเครื่องยนต์
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม